วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเกิดพายุ


การเกิดพายุนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของอุณหภูมิของกระแสน้ำยิ่งอุณหภูมิมากแนวโน้มที่จะกลายเป็นพายุที่มีความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม มักเกิดในทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26-27 ํc ขึ้นไป มีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยๆ โค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือตะวันตก เราจะเรียกว่า “ไต้ฝุ่น” ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโกจะเรียกว่า “เฮอริเคน” แต่หากเกิดในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย จะเรียกว่า “ไซโคลน” สุดท้ายมหาสมุทรอินเดียใต้และทวีปออสเตรเลีย จะเรียกว่า “วิลลี่ วิลลี่” จะเกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม

หลักการตั้งชื่อพายุ

ความเป็นมาของการตั้งชื่อพายุในสมัยก่อน ที่ชื่อพายุจะตั้งชื่อเป็นผู้หญิงเพื่อจะได้ฟังดูแล้วลดความน่ากลัวลง (บางแหล่งข้อมูลกล่าวถึงนักเดินเรือที่ตั้งชื่อพายุเป็นชื่อผู้หญิงเพื่อนึกถึงลูกเมีย) แต่กลุ่มสตรีในอเมริกาได้ประท้วงหาว่าเปรียบเทียบว่าผู้หญิงมีความโหดร้าย จึงมีการตั้งชื่อผู้ชายด้วยในภายหลัง โดยทางอเมริกาที่มีดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ดูการเคลื่อนไหวของพายุ เป็นคนตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด กระทั่งปี พ.ศ. 2543 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการตั้งชื่อพายุ โดยเปิดให้ประเทศในโซนต่างๆ เสนอชื่อพายุได้ประเทศละ 10 ชื่อ แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดในการตั้งชื่อ กำหนดเพียงให้ใช้ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย เราอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ รวมกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เหนือ) ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี (ใต้) สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายชื่อและความหมายของชื่อพายุ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning Center) ที่เกาะกวม อันประกอบด้วยตัวแทนทั้ง 14 ประเทศมาประชุมร่วมกัน จนได้ชื่อพายุของไทยที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา นิดา มรกต ชบา กุหลาบ และขนุน นั่นเอง จากนั้นแต่ละชื่อจะถูกเรียงตามลำดับตัวอักษร (ภาษาอังกฤษ) ของแต่ละประเทศ โดยเริ่มจากประเทศกัมพูชา และปิดท้ายด้วยเวียดนาม (ประเทศไทยเราอยู่อันดับที่ 12) แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 28 ชื่อ รวมเป็น 140 ชื่อ เรียงตามอันดับแรกของแต่ละประเทศ เมื่อใช้หมด 1 กลุ่ม ก็จะขึ้นชื่อแรกของกลุ่มที่ 2 ใช้เรียงกันไปเรื่อยจนครบทุกชื่อ
จึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง

เลือกใช้ชื่อพายุอย่างไร

เมื่อเรากำหนดชื่อพายุที่จะใช้ในแถบโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ได้ครบแล้ว หน่วยงานที่จะกำหนดว่าพายุที่ก่อตัวขึ้นมานั้น มีความรุนแรงในระดับที่จะตั้งชื่อได้หรือไม่ ถ้าตั้งได้ควรจะใช้ชื่ออะไร การใช้ชื่อพายุนั้นจะแบ่งพายุเป็น 3 ระดับ คือ
1. พายุดีเปรสชั่น (Depression) เป็นพายุกำลังอ่อน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่เกิน 33 นอต หรือประมาณ 62 กม./ชม. พายุในระดับนี้เราจะยังไม่ตั้งชื่อ แต่จะเรียกว่าเป็นพายุดีเปรสชั่น จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเฝ้าระวัง ว่าพายุดีเปรสชั่นนั้นจะอ่อนกำลังลงจนสลายตัว หรือจะเพิ่มกำลังจนกลายเป็น 'พายุโซนร้อน'
2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุกำลังปานกลาง มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง อยู่ที่ 34-63 นอต หรือประมาณ 63-117 กม./ชม. จะใช้ชื่อที่กำหนดไว้มาเรียกพายุลูกนี้
3. พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุด มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 64 นอต หรือประมาณ 118 กม./ชม. ขึ้นไป ก็จะยังใช้ชื่อเดิมขณะเป็นพายุโซนร้อนอยู่จนกว่าจะสลายตัวไป

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น